ซื้อแฟรนไชส์แล้วสบายจริงหรือ? ใน 1 วัน เจ้าร้านต้องทำอะไรบ้าง
ซื้อแฟรนไชส์แล้วสบายจริงหรือ? ใน 1 วัน เจ้าร้านต้องทำอะไรบ้าง
แฟรนไชส์ร้านอาหาร คือธุรกิจที่เราซื้อลิขสิทธิ์จากเจ้าของแบรนด์ร้านอาหารมาดำเนินการเปิดสาขาใหม่ภายใต้แบรนด์เดิม โดยมีข้อตกลงในการดำเนินธุรกิจตามรูปแบบที่เจ้าของแบรนด์กำหนดไว้ หลายคนเข้าใจว่า การซื้อแฟรนไชส์ เป็นการซื้อธุรกิจสำเร็จรูปมาทำ โดยที่เรามีหน้าที่บริหารงานต่างๆ เพียงเท่านั้น เพราะจากเจ้าของแฟรนไชส์ หรือที่เรียกว่า “แฟรนไชส์ซอร์” ได้เตรียมทุกอย่างให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือที่เรียกว่า “แฟรนไชส์ซี” ไว้หมดแล้ว แค่หาทำเลที่เหมาะสม ก่อสร้าง ตกแต่ง และดำเนินงานตามคู่มือก็พอแล้วจริงหรือ? วันนี้ MHA จะมาลองยกตัวอย่างให้เห็นว่าในแต่ละวันเจ้าของร้านแฟรนไชส์จะต้องทำอะไรบ้าง
1.จัดการงานประจำวัน
งานประจำวันที่สำคัญที่สุดของร้านอาหาร คือ การสร้างยอดขายให้กับร้าน เพราะยอดขายคือรายได้หลักของร้านอาหาร เจ้าของร้านมีหน้าที่สร้างยอดขายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งยอดขายจะเพิ่มขึ้นได้จากหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น อาหารที่รสชาติดีมีคุณภาพ มีช่องทางในการสั่งและการจัดจำหน่ายทั่วถึง มีโปรโมชั่นที่ถูกใจลูกค้า พนักงานบริการดีและมีทักษะการขายของเก่ง เจ้าของร้านต้องมีกลยุทธ์การขายเพื่อเพิ่มยอดขายต่อหัว ต้องวางกลยุทธ์การตลาดและการโฆษณาเพื่อเพิ่มยอดลูกค้าให้กับร้าน
ยังไม่หมด เพราะยอดขายที่ดีต้องมาจากการจัดการร้านที่ดีด้วย ธุรกิจจะได้ไม่ติดขัดและทำรายได้ต่อเนื่อง ดังนั้นงานประจำวันอีกเรื่องก็คือ การบริหารและจัดการร้าน ซึ่งจะบริหารหรือจัดการอย่างไรนั้น ลองอ่านข้อถัดไป
-
ควบคุมร้าน และตรวจสอบการจัดซื้อ การสต๊อกวัตถุดิบ
เรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็นการบริหารจัดการร้านให้ดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด
- ในแต่ละวันเราต้องทำการเช็คสต็อกวัตถุดิบคงเหลือ และทำการสั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปจนเอามาเก็บให้เน่าเสีย แต่ต้องพอกับจำนวนที่จะขายในแต่ละวัน
- เมื่อสั่งวัตถุดิบไป และซับพลายเออร์นำมาส่งแล้ว จะต้องเช็คสินค้าทุกครั้งก่อนตกลงรับของ ตรวจเช็คทั้งสเปคของที่สั่งและจำนวนให้ตรงกัน
- ต้องจัดทำสต๊อกวัตถุดิบอย่างเป็นระเบียบตามประเภทของวัตถุดิบแต่ละชนิด เช่น เนื้อสัตว์ต้องแช่แข็ง ผักสดต้องแช่อุณหภูมิไม่เย็นเกินไป ฯลฯ
- ต้องควบคุมงบประมาณในการซื้อของเข้าร้าน เช็คยอดขายและตรวจสอบรายรับในแต่ละวันว่าสอดคล้องกันหรือไม่
ถึงแม้เราจะจ้างผู้จัดการร้านมาจัดการส่วนนี้แล้ว แต่เราต้องไม่ลืมตรวจสอบทุกอย่างด้วยตัวเองอีกครั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น ศึกษาเรื่องการจัดการร้านอาหารเพิ่มเติมได้ที่ => รวมบทความด้านการจัดการร้านอาหาร
-
สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกทีม และฝึกงานพนักงาน
แม้แฟรนไชส์ซอร์หลายๆ เจ้าจะมีการฝึกหัดพนักงานให้และมีคู่มือการปฏิบัติงานมาให้เราศึกษา แต่คนที่บริหารทีมงานในร้านก็คือเรา เราต้องทำหน้าที่ในการรับสมัครและคัดเลือกพนักงานเอง รวมถึงฝึกพนักงานให้พร้อมทำงานในร้านได้อย่างดีที่สุด ในขณะเดียวกันเราต้องสร้างการทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้นในร้านให้ได้ ต้องจูงใจทีมพนักงานให้ร่วมมือร่วมใจกันทำงานโดยตั้งเป้าหมายที่ความสำเร็จของร้านเป็นหลัก
เมื่อเกิดความขัดแย้งต้องหาทางจัดการอย่างยุติธรรม และต้องสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้พนักงานเกิดความเชื่อมั่นและอยากทำงานกับเราไปนานๆ ลองศึกษาเรื่องการบริหารพนักงานได้ฟรีที่ => คอร์สออนไลน์ การบริหารจัดการคนในธุรกิจร้านอาหาร
-
ทำตามมาตรฐานแฟรนไชส์
นี่คือข้อตกลงในการประกอบธุรกิจแบบแฟรนไชส์ เจ้าของแบรนด์แทบทั้งหมดจะพยายามควบคุมมาตรฐานของทุกสาขาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเรื่องนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแฟรนไชส์เป็นอย่างมาก หากสาขาใด สาขาหนึ่งจัดการบริการไม่ได้มาตรฐานจนลูกค้าเมิน อาจส่งผลให้ไม่มีผู้ซื้อแฟรนไชส์อีกเลย และร้านสาขาอื่นๆจะพลอยตกต่ำไปด้วย สำหรับมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์ที่เราต้องทำตาม ได้แก่
– มาตรฐานด้านคุณภาพและรสชาติอาหาร โดยทั่วไปแฟรนไชส์ซอร์ จะมีสูตรอาหารมาให้ปรุงตามอยู่แล้ว เราอาจปรับสูตรได้บ้างเล็กน้อยตามลูกค้าสั่ง แต่จะต้องมีส่วนผสมครบถ้วนและมีวิธีทำตามที่ได้รับการอบรมมาจากเจ้าของแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มก็ตาม และถ้าจะปรับเมนูหรือเพิ่มเมนูใหม่เราจำเป็นจะต้องแจ้งแฟรนไชส์ซอร์ก่อนเพื่อขออนุมัติ
– มาตรฐานด้านการบริการ ในส่วนนี้นอกจากเราจะต้องอบรมพนักงานที่ร้านเองแล้ว ทางแฟรนไชส์บางเจ้าจะช่วยเราฝึกหัดพนักงาน หรือช่วยให้คำปรึกษาในการอบรมพนักงานเกี่ยวกับการบริการ เพื่อให้มาตรฐานในการบริการแต่ละสาขามีความใกล้เคียงกันมากที่สุด
– มาตรฐานด้านราคาและโปรโมชั่น เช่นเดียวกับอาหารและการบริการ ราคาของอาหารจะขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้าของแฟรนไชส์เช่นกัน แต่ราคาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา เช่น วัตถุดิบขึ้นราคา ฯลฯ ซึ่งถ้ามีการปรับราคา หรือมีการจัดโปรโมชั่นใดๆ เจ้าของลิขสิทธิ์จะทำการกำหนดเป็นนโยบายกลางและแจ้งให้แต่ละสาขาทราบ ซึ่งเรามีหน้าที่ต้องคอยเช็คข้อมูลกับทางแฟรนไชส์ซอร์และร้านเครือข่ายอยู่เสมอ
– ส่วนมาตรฐานอื่นๆ เช่น การจัดและตกแต่งร้าน ฯลฯ ส่วนใหญ่เจ้าของแบรนด์จะมีคู่มือมาให้ศึกษาอยู่แล้ว และเรามีหน้าที่ต้องศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติตามคู่มือให้ถูกต้องด้วย
-
ทำความรู้จักและเข้าถึงลูกค้าในละแวกร้าน
การซื้อแฟรนไชส์มาตั้งในพื้นที่ใหม่ คือ การขยายสาขาร้านในรูปแบบหนึ่งที่ให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและเป็นเจ้าของร้าน เพราะต้องการขยายตลาดไปยังพื้นที่อื่นและสร้างฐานลูกค้าในพื้นที่สาขาใหม่ แม้ว่าแบรนด์ร้านที่เราซื้อมาจะทำการตลาดมาจนมีชื่อเสียงแล้ว แต่เมื่อมาอยู่ในพื้นที่ใหม่ ก็ไม่ต่างจากการเปิดร้านใหม่และยังไม่เป็นที่รู้จักของคนในละแวกนั้น การจะได้ยอดขายที่ดีนั้น ร้านจะต้องเป็นที่รู้จัก ต้องน่าลองใช้บริการ
การทำการตลาดในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับร้านอาหาร เจ้าของร้านต้องทำให้ร้านเป็นที่รู้จักของคนในพื้นให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันมักจะเริ่มทำการตลาดกันตั้งแต่ยังไม่เปิดร้าน แฟรนไชส์ซอร์จะช่วยเราโปรโมทผ่านทางสื่อออนไลน์ แต่เจ้าของร้านเองก็ต้องสนใจในส่วนนี้เช่นกัน อาจใช้เครื่องมือเบสิคแบบใบปลิวแจ้งโปรโมชั่นในช่วงเปิดร้านใหม่ หรือทำสื่อโซเชียลเป็นของสาขาเองเตรียมไว้ก็ได้ เรียนรู้เพิ่มเติมได้ในคอร์สออนไลน์ โปรโมทร้านอาหารในออนไลน์ ให้ยอดขายพุ่งขึ้น 10 เท่า คลิก
เมื่อเปิดร้านแล้ว ต้องหมั่นทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ และสำรวจความต้องการของลูกค้าไปด้วย เพราะลูกค้าแต่ละทำเลมีความต้องการไม่เหมือนกัน เราจะได้มีข้อมูลในการปรับปรุงบริการของร้านให้ตรงความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด
สรุป
ถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่าการซื้อแฟรนไชส์มาทำนั้น ไม่ได้สบายอย่างที่คิด เพราะมีภาระในแต่ละวันไม่ต่างจากเจ้าของร้านอาหารทั่วไปเลย แต่อย่างไรก็ดี แฟรนไชส์ร้านอาหาร ยังเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าลงทุน เพราะมีแผนธุรกิจสำเร็จรูปจากเจ้าของแฟรนไชส์ พร้อมทั้งคอยเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกิจร้านอาหารให้กับเราไปด้วย มีสูตรอาหารให้ มีขั้นตอนการปฏิบัติงานให้ศึกษา
หลายเจ้าจะมีการฝึกอบรมก่อนเริ่มธุรกิจจริง ที่จะช่วยให้เรามั่นใจในการทำธุรกิจมากขึ้น ขายง่ายขึ้นเพราะมีการทำการตลาดจากเข้าของแบรนด์เข้ามาช่วย และมีเครือข่ายแฟรนไชส์ที่จะช่วยแชร์ข้อมูลความช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ขอเพียงเราศึกษาข้อมูลของแฟรนไชส์ที่สนใจให้ดีก่อนจะเลือกซื้อแฟรนไชส์มาทำเอง
- ลองศึกษาแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จได้จาก => ถอดบทเรียนจากเจ้าของเตี๋ยวตุ๋นหม้อไฟ INDY ที่ล้มมาแล้วถึง 15 ครั้ง จนกลายเป็นแฟรนไชส์ 100 ล้าน!
- หรือ ศึกษาข้อผิดพลาดในการทำแฟรนไชส์ ได้ที่ => แฟรนไชส์ที่คิดว่า ‘ปัง’ ทำไมถึงพังไม่เป็นท่า 5 เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์
- และ ศึกษาหลักในการเลือกแฟรนไชส์ที่ดี ได้ที่ => Checklist วิธีดูแฟรนไชส์ แบบไหนที่ควรซื้อ